วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มะเขือขื่น กับสรรพคุณน่ารู้

มะเขือขื่นเป็นมะเขือที่พบขึ้นตามป่าละเมาะหรือที่รกร้างทั่วไป ไม่นิยมปลูกเป็นพืชสวนครัว เนื่องจากคนส่วนใหญ่ระบุว่ารสชาติไม่อร่อย นิยมรับประทานอย่างกว้างขวางเฉพาะถิ่นเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ผลสีเขียวต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ ผลแก่หรือสุกสีเหลืองหั่นเล็ก ๆ พร้อมกับพริกขี้หนูสดใส่ปลาจ่อม ปลาเจ่า หรือใส่แกงเหนือแกงอีสานหลายอย่างเพิ่มรสชาติได้ดีมาก

มะเขือขื่น นอกจากจะปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่างตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย โดยตำรายาพื้นบ้านระบุว่า ราก นำไปใช้เป็นยาขับเสมหะ ทำให้น้ำลายแห้ง แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ที่มีพิษร้อน โดยกะจำนวนพอประมาณต้มน้ำดื่ม หรือราก สามารถนำไปปรุงเป็นยาอื่น แก้กามตายด้าน บำรุงกำหนัด (เข้ายาตัวอื่น) ได้ผลดีระดับหนึ่ง ผลแก่หรือสุกที่เปลือก ผลเป็นสีเหลืองกินแก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้ไข้ สันนิบาตได้เช่นกัน คนในยุคโบราณนิยมกันแพร่หลาย



มะเขือขื่น หรือ SOLANUM XANTHOCARPUM อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง ตามลำต้นจะมีหนามแหลมสีแดงเกือบดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยในแผ่นใบจะมีหนามสีแดงเกือบดำเช่นกัน ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน สีเขียวสด ดอกเป็นสีขาว ลักษณะดอกเหมือนกับดอกมะเขือทั่วไป ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยเป็นพวงจำนวนหลายดอก ผล รูปทรงกลม กลีบเลี้ยงจะติดจนเป็นผล ผลดิบสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลืองอมส้มเล็กน้อย เปลือกผลด้านในเป็นสีเขียว และเป็นเมือกเล็กน้อย รสชาติขื่นและเหนียว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ผลเมื่อโตเต็มที่ ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด


พบขึ้นตามป่าละเมาะหรือที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไปตามที่กล่าวข้างต้น ไม่นิยมปลูกตามบ้าน จะมีปลูกเพื่อเก็บผลขายเป็นสินค้าบ้างเล็กน้อย มีผลวางขายตามแผงจำหน่ายพืชผักพื้นบ้านทั่วไป



มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทยอีก คือ มะเขือเปราะ, มะเขือสวย (ภาคกลาง), มะเขือขันคำ, มะเขือคางกบ, มะเขือแจ้, มะเขือจาน, มะเขือแจ้ดิน (ภาคเหนือ) เขือพา, เขือหิน (ใต้) มั่งคิเก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) และมะเขือหิน (ภาคอีสาน)


เกร็ดความรู้เล็กน้อย



ไข้สันนิบาต


ไข้สันนิบาต หมายถึง อาการไข้ชนิดหนึ่ง มีอาการสั่นเทิ้มและเพ้อ คนโบราณเชื่อว่า เกิดจากธาตุทั้งสาม คือ วาตะ ปิตตะ และเสมหะ ไม่สมดุลกัน ดังนี้


วาตะ (ลม) เป็นแหล่งกำเนิดของกำลังการเคลื่อนไหว การไหลเวียนของเลือด และควบคุมระบบร่างกาย


ปิตตะ (ดี) เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยย่อยอาหาร


เสมหะ (เสลด) เป็นแหล่งกำเนิดกำลัง และความเข้มแข็ง


โบราณให้ความสำคัญกับธาตุทั้ง ๓ ว่า ถ้าคุมและประสานงานกันด้วยดี ร่างกายจะปกติ มีสมดุล ไม่เป็นไข้


ไข้สันนิบาต เรียกอีกอย่างว่า ไข้ตรีโทษ




ไข้สันนิบาตในพระคัมภีร์ตักศิลา


ไข้คดไข้แหงน ต้องแก้ให้ได้ในวันเดียว
ไข้คด จะชักตัวงอเข้าจนเส้นหลังขาดตาย ไข้แหงน ชักตัวแอ่นออกจนเสันหลังขาดตาย
เมื่อเอามือกดเนื้อที่แขนขาแล้วยังพองขึ้น หรือใช้มือล้วงคอหรือทวารหนักหากอุ่นอยู่ คืออาการยังพอรักษาได้




ไข้หวัดน้อย-ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดทั้งสองนี้มีเหตุเพราะฤดูทั้งสาม ต้องร้อน,ต้องฝน,ต้องน้ำค้าง ทำให้เป็นไข้หวัด ให้ไอ หากรักษาไม่หายจะกลายเป็น ริดสีดวงมองคร่อ(หวัดลงปอด) หืดไอ เป็นฝี ๗ ประการ


ไข้หวัดน้อย สะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะมาก ระวิงระไว ไอ จาม น้ำมูกตก
ไข้หวัดใหญ่ สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ ไอ จาม น้ำมูกตกมาก ตัวร้อนอาเจียน ปากแห้ง ปากเปรี้ยว ปากขม กินข้าวไม่ได้ แล้วจะไอมากขึ้น คอแห้ง ฟัน, ปาก, จมูกแห้ง น้ำมูกแห้ง บางทีทำให้น้ำมูกไหลหยดย้อย


ไข้กำเดาน้อย
สะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศีรษะ ตาแดง ตัวร้อนเป็นเปลว ไอ ปากขมปากเปรี้ยว กินข้าวไม่ได้ อาเจียน นอนไม่หลับ


ไข้กำเดาใหญ่
สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะมาก ตาแดง ตัวร้อนเป็นเปลว ไอ ปากแห้ง คอแห้ง เพดานแห้ง ฟันแห้ง เชื่อมมัว ให้เมื่อยไปทั้งตัว บางทีผุดเป็นเม็ดเท่ายุงกัดทั่วตัว แต่ไม่มีเม็ดยอด บางทีไอโลหิตออกทางจมูก ทางปาก หรือชักเท้ากำมือกำ
หากรักษาผิด รักษาไม่หาย จะกลายเป็นกาฬ ๕ จำพวก คือกาฬพิพิทธ กาฬพิพัธ กาฬคูถ กาฬมูตร หรือกาฬสิงคลี


ไข้สามฤดู สาเหตุของไข้ในแต่ละฤดู และเป็นไข้ที่รักษาด้วยการวางยารสร้อนต่างจากไข้อื่นๆ


เป็นหวัดมองคร่อ หิวหาแรงไม่ได้ ละเมอเพ้อ เจ็บปาก สะท้านหนาว เท้าเย็นมือเย็น เจ็บข้อมือข้อเท้า น้ำลายมาก กระหายน้ำบ่อย อยากเนื้อพล่า ปลายำ อยากกินหวานกินคาว ให้เกียจคร้าน เป็นฝีพุพอง


ไข้ในคิมหันตฤดู เดือน ๕-๖-๗-๘ เป็นไข้เพื่อโลหิต เป็นใหญ่กว่า ลม-เสมหะทั้งปวง
ไข้ในวสันตฤดู เดือน ๙-๑๐-๑๑-๑๒ เป็นไข้เพื่อลม เป็นใหญ่กว่าโลหิตเสมหะทั้งปวง
ไข้ในเหมันตฤดู เดือน ๑-๒-๓-๔ เป็นไข้เพื่อกำเดาและดี เป็นใหญ่กว่า ลมเสมหะทั้งปวง


ไข้สันนิบาตในคัมภีร์ฉันทศาสตร์


ไข้สำประชวร

เป็นไข้เนื่องจากเสมหะ โลหิต ดี กำเดา ลม เป็นเหตุ เป็นไข้เรื้อรัง รักษาไม่หาย ร่างกายซูบผอม เบื่ออาหาร มีลักษณะต่างๆ
ไข้เพื่อกำเดา นัยน์ตาแดงดังสายโลหิต ไม่มีน้ำตา ปวดหัวตัวร้อน สะท้านร้อนสะท้านหนาว คอแห้งกระหายน้ำ
ไข้เพื่อโลหิต นัยน์ตาแดงดังโลหิต หน้าแดง น้ำตาคลอ ปวดหัวตัวร้อน
ไข้เพื่อเสมหะ นัยน์ตาเหลืองดังขมิ้น หนาว แสยงขน ขนลุกทั่วตัว หรือไม่ร้อนมาก
ไข้เพื่อดี ขอบนัยน์ตาเขียวเป็นแว่น ตัวร้อน เพ้อคลั่ง ปวดหัว กระหายน้ำ
ไข้เพื่อลม นัยน์ตาขุ่นคล้ำ มัว วิงเวียน หน้ามืด ตัวไมร้อน
ไข้เกิดจากเส้นอัมพฤกษ์( ในบุรุษ) และไข้เกิดจากเส้นปัตฆาต (ในสตรี) นัยน์ตาไม่สู้แดงนัก คือนัยน์ตาแดงเรื่อๆ


ไข้สันนิบาตโลหิต
ให้เจ็บแต่สะดือ แล้วลามขึ้นไปข้างบน เจ็บที่ท้ายทอย(กำด้น) ลามไปที่กระหม่อม วิงเวียนหน้ามืด ท้องอืดแน่น




ไข้เพื่อโลหิต
ให้เจ็บตั้งแต่ฝ่าเท้า แล้วร้อนขึ้นทั่วตัว เจ็บมากที่หน้าผาก จิตใจกระวนกระวาย รีบรักษาในตอนกลางคืนก่อนจะรุ่งเช้า


ไข้ในวัสสานฤดู

เกิดกับคนอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป เริ่มแต่หัวค่ำ ให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปาก คอ เพดานแห้ง เจ็บไปทุกเส้นเอ็นทั่วตัว
ปวดเมื่อย เป็นพรรดึก นอนไม่หลับ เรียกว่าเอกโทษลมอันเกิดจากไข้เอกโทษ,ทุวันโทษ,ตรีโทษ ทับสลับกัน

ไข้ในคิมหันต์ฤดู

เกิดในปฐมวัย อายุไม่เกิน ๑๖ ปี จะมีเสมหะเป็นต้นไข้ และดีเข้ามาระคน เป็น ๒ สถาน ให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ในปากและคอเป็นเมือก กระหายน้ำ หอบไอ เชื่อมมัว ตัวหนัก เรียกว่าทุวันโทษ เสมหะ-ดีเกิดกับคนอายุ ๓๐-๔๐ ปี เริ่มเที่ยงวัน ให้ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ กระวนกระวายใจ มึนซึม ในคอมีเสมหะ
อุจจาระปัสสาวะมีสีเหลืองปนแดง เหงื่อไหล เรียกว่าเอกโทษดีทุวันโทษ,ตรีโทษทับสลับกัน

ไข้ในวสันต์ฤดู


เกิดกับคนอายุ ๓๐-๔๐ ปี จับแต่เที่ยงวันจนเย็นค่ำจึงสร่าง มีดีเป็นต้นไข้และมีลมเข้าระคน เป็นทุวันโทษ อาการเชื่อมมัว ปวดเมื่อยตามข้อ หาว อาเจียน ปากและคอแห้ง ขนลุกพอง มักสะดุ้ง ตัวร้อน เรียกว่าทุวันโทษดีและลมทับสลับกัน

ไข้ในเหมันต์ฤดู


เกิดกับคนอายุ ๑๕ ปี จับแต่เช้าตรู่ตอนไก่ขัน ให้ร้อนข้างนอกกาย ภายในหนาว แสยงขน ไอ คอตีบ กินอาหารไม่ลง เชื่อมมัว ปากหวาน ในตาขาว อุจจาระปัสสาวะขาว เรียกว่าเสมหะเอกโทษถ้าเป็นจนเลยเที่ยง จนบ่าย ดีจะมาระคน


เกิดกับคนอายุ ๔๐-๕๐ ปี มีลมเป็นต้นไข้ จับตอนค่ำจนรุ่งเช้าจึงสร่าง อาการหนักตัว ไอ ปวดหัว เมื่อยตามมือและเท้า ร้อนรนอยู่ภายใน เหงื่อไม่มี ข้างนอกเย็น เพราะลมเสมหะระคนกัน เรียกว่าทุวันโทษลมและเสมหะทับสลับกัน


ไข้สันนิบาตระหว่างฤดู ๓-๖


ตอนเช้าเป็นต้นไข้ กำเริบไปถึงเย็นและเที่ยงคืน อาการสะท้านร้อนสะท้านหนาว เคืองนัยน์ตา น้ำตาไหล เจ็บตามข้อตามกระดูกจนถึงสมอง เหงื่อออกมาก ตาเหลืองบางทีแดง ตาถลน มองเห็นไม่ชัด หูปวดและตึง หอบหายใจสะอื้น ลิ้นปากเป็นเม็ดเน่าเหม็น ลิ้นบวมดำ เจ็บในอก หัวสั่น หลับตาแต่ใจไม่หลับ ลุกนั่งไม่ไหว บ่นพึมพำ บางทีอุจจาระเขียว หรือดำ กะปริดกะปรอย รอบข้อมือมีลายเส้นสีเขียวสีแดง ถ้ามีเส้นเขียวตามตัว ท้องขึ้นผะอืดผะอม มีลมในท้อง ท่านว่า ไฟธาตุทั้ง ๔ ดับสิ้นจากกาย
ผู้ป่วยด้วยไข้สันนิบาต หากมีอาการบวมที่หู,ที่ตา,ที่ปาก ที่ใดที่หนึ่ง จะตายใน ๗ วัน